วันศุกร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ปิด IPv6 บน Debian 7

หลักสำคัญของการเพิ่มความเข้มแข็งให้มาตรการรักษาความปลอดภัยของระบบคอมพิวเตอร์ใด ๆ ประการหนึ่งก็คือการปิดอะไรทั้งหลายที่ไม่ได้ใช้ซะ แต่สิ่งหนึ่งที่แถมมากับระบบปฏิบัตการใหม่ ๆ ก็คือ IPv6 ที่จริงถ้าองค์กรของเราใช้อยู่ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าไม่ได้ใช้แล้วเครื่องของเราเปิดทิ้งไว้ก็จะกลายเป็นประตูที่รอให้มีผู้บุกรุกโจมตีได้

วันนี้บังเอิญติดตั้งระบบใหม่โดยเลือกใช้ Debian 7 ไหน ๆ ก็เปิดคู่มือหาวิธีปิด IPv6 แล้ว ขอโพสต์ไว้เผื่อใครจะใช้ในลำดับต่อไปสักหน่อย เนื่องจาก IPv6 เป็นคุณสมบัติที่มากับเคอร์แนล การจะปิดฟังก์ชันนี้จึงต้องไปกำหนดค่าไว้ใน /etc/sysctl.d ซึ่งจริง ๆ อาจตั้งชื่อไฟล์ local.conf แล้วป้อนพารามิเตอร์ตามต้องการ หรือจะแยก conf ไฟล์สำหรับแต่ละตัวเลือกก็ได้ ในที่นี้ใช้วิธีสร้างไฟล์ใหม่ด้วยคำสั่งนี้

echo net.ipv6.conf.all.disable_ipv6=1 > /etc/sysctl.d/disableipv6.conf

หลังจากบูตเครื่องใหม่ IPv6 ก็จะถูกปิดไว้โดยอัตโนมัติ ตรวจสอบง่าย ๆ ด้วยคำสั่ง ifconfig อีกครั้ง สำหรับ distro หรือเวอร์ชันอื่น ๆ จริง ๆ ก็ใช้หลักการเดียวกัน โดยเฉพาะ Debian กับ Ubuntu ที่ใช้โครงสร้างไดเรกทอรีเดียวกัน แต่สำหรับ CentOS ก็เพิ่มตัวเลือก disable_ipv6=1 นี้ไว้ในไฟล์ /etc/sysctl.conf แทนได้ครับ

วันพฤหัสบดีที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2556

Activate Windows และ Office ผ่าน KMS โดยไม่ใช้ DNS

องค์กรขนาดใหญ่ที่มีคอมพิวเตอร์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ตั้งแต่ Vista (ใครยังใช้อยู่บ้าง?) และไมโครซอฟต์ออฟฟิศตั้งแต่รุ่น 2007 ขึ้นไป มักติดตั้ง Key Management Server (KMS) ไว้เพื่อ activate ซอฟต์แวร์ที่ใช้ในองค์กรของตน เพราะถ้าต้องเข้าเน็ตเพื่อ activate ซอฟต์แวร์ในคอมพิวเตอร์นับร้อยเครื่องผ่านอินเทอร์เน็ตคงไม่ใช่เรื่องสนุกนัก โดยทั่วไป service record จะถูกกำหนดไว้ใน DNS ขององค์กร เมื่อเครื่องใดต้องการ activate ก็จะตรวจสอบจาก DNS ได้ทันที ว่าต้องส่งคำขอไปที่เครื่องใดในเครือข่าย แต่บางกรณีคอมพิวเตอร์บางส่วนในองค์กรอาจอยู่ต่าง VLAN หรือไม่สามารถติดต่อกับ DNS ที่ให้บริการนี้โดยตรงได้ เรายังคง activate ซอฟต์แวร์แบบ manual ได้เช่นกัน โดยมีขั้นตอนดังนี้

1. ติดตั้งวินโดวส์และออฟฟิศโดยใช้แผ่นติดตั้งแบบ Enterprise (เข้าไปดาวน์โหลดอิมเมจสำหรับซอฟต์แวร์ที่องค์กรมีสิทธิใช้ได้จาก Microsoft Volume licensing service Center หรือง่่ายกว่านั้น ขอแผ่นจากฝ่ายไอทีครับ) โดยไม่ต้องใส่ license key ใด ๆ

2. เปิด command prompt ด้วยสิทธิ Administrator

 

3. คำสั่งสำหรับการจัดการไวเซนส์สำหรับวินโดวส์เป็น VB script "slmgr.vbs" พารามิเตอร์ /skms แล้วระบุชื่อเต็ม ๆ ของ KMS ขององค์กร ในที่นี้สมมุติให้ใช้ชื่อ kms.องค์กร.com

cscript slmgr.vbs /skms kms.องค์กร.com

4. จากนั้นถึงกำหนด activate วินโดวส์ก็จะส่งคำขอและเปิดใช้งานเองโดยอัตโนมัติ หรือหากต้องการให้ activate ทันทีก็ทำได้ด้วยคำสั่ง

cscript slmgr.vbs /ato

ถ้าการเปิดใช้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย เมื่อใช้พารามิเตอร์ /dli เพื่อตรวจสอบสถานะการ activate ก็จะแสดงสถานะเป็น Licensed ดังนี้


5. สำหรับชุดโปรแกรมออฟฟิศ เราต้องเปลี่ยนพาธไปที่ไดเรกตอรีของ Office เสียก่อน ซึ่งขึ้นอยู่กับระบบปฏิบัติการและรุ่นของออฟฟิศที่ใช้ สำหรับวินโดวส์ 32 บิต อยู่ภายใต้ Program Files แต่สำหรับวินโดวส์ 64 บิต จะอยู่ใต้ Program Files (x86) จากนั้นเข้าไปใต้ Microsoft Office และ Office ตามรุ่นที่ใช้ตามลำดับ ใช้คำสั่ง cd เปลี่ยนพาธตามความถนัดครับ สำหรับตัวอย่างด้านล่าง เป็นเครื่องที่ใช้วินโดวส์ 32 บิต และออฟฟิศรุ่น 2010

cd "\Program Files\Microsoft Office\Office14"

6. VB script สำหรับจัดการไลเซนส์ของวินโดวส์ คือ ospp.vbs ซึ่งอยู่ใต้ไดเรกตอรีข้างต้น พารามิเตอร์สำหรับระบุ KMS ขององค์กรให้ใช้คำสั่งดังนี้

cscript ospp.vbs /sethst:kms.องค์กร.com

7. หากต้องการให้ activate ทันที ให้ใช้คำสั่ง

cscript ospp.vbs /act

การตรวจสอบสถานะการเปิดใช้สำหรับออฟฟิศ ให้ใช้พารามิเตอร์ /dstatus หากการ activate เรียบร้อย ก็จะแสดงสถานะเป็น Licensed เช่นกัน หากในเครื่อง ติดตั้งโปรแกรมอื่นในชุดออฟฟิศอย่างเช่น Visio และ Project การเปิดใช้ก็จะส่งผลต่อโปรแกรมเหล่านี้ด้วยทันที

อย่าลืมว่าวัตถุประสงค์ของการใช้ KMS คือการ activate ซอฟต์แวร์ภายในองค์กร หากเรารู้ชื่อ KMS Host ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งบนอินเทอร์เน็ต จะแอบไปเปิดใช้ผ่านหน่วยงานนั้น ๆ ได้ไหม คำตอบคือ "ได้" หากคำขอของเราผ่านไฟร์วอลล์ไปถึง KMS แต่โดยทั่วไป ทุกองค์กรล้วนต้องปกป้องสิทธิการใช้งานของตน และมักกำหนดสิทธิให้เข้าถึงได้จากภายในองค์กรเท่านั้น หรือถ้าหน่วยงานใดไม่ได้กำหนดไว้ แนะนำให้บล็อคโดยด่วนครับ

ถึงตอนนี้การเปิดใช้ทั้งวินโดวส์และออฟฟิศสำหรับคอมพิวเตอร์ในองค์กรของเราก็เสร็จเรียบร้อย หลายคนคงสงสัยว่าทำไมต้องกำหนดพารามิเตอร์ให้ต่างกันด้วย โปรแกรมจากค่ายเดียวกันแท้ ๆ ... นั่นสิ ไม่เข้าใจเหมือนกัน ^_^

วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2556

นำเสนอให้น่าสนใจด้วย Prezi สมัครใช้ฟรีสำหรับครูและนักเรียน

เมื่อกล่าวถึงการนำเสนองานหลาย ๆ คนก็คงคิดถึงเพาเวอร์พอยต์เป็นอันดับแรก แต่หากได้เข้าฟังการสัมมนาในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อาจเคยเห็นโปรแกรมนำเสนอที่ดูน่าตื่นตาตื่นใจโดยใช้ Prezi มีการซูมเข้าสู่หัวข้อย่อย ๆ ได้อย่างน่าสนใจ ลองดูตัวอย่างได้จากงานนำเสนอนี้


ดูแล้วหลายคนคงอยากสร้างงานนำเสนอให้น่าสนใจขึ้นมากันแล้ว ปกติสำหรับผู้ใช้ทั่วไปก็สามารถสมัครใช้งานฟรีได้ แต่งานนำเสนอที่สร้างขึ้นจะเปิดเผยแบบสาธารณะ ใคร ๆ ก็เข้ามาดูได้ มีพื้นที่ให้เก็บงานนำเสนอได้ 100 MB แต่สำหรับครู นักเรียน และบุคลากรทางการศึกษาสามารถสร้างงานนำเสนอแบบส่วนตัวได้ ใส่โลโก้เองได้ และได้พื้นที่ถึง 500 MB ที่สำคัญคือฟรีอีกด้วย สมัครได้เลยที่ http://prezi.com/pricing/edu/


คุณครูและนักเรียนทุกคนคงชอบครับ $0 ต่อเดือน  แต่การสมัครต้องมีเงื่อนไขเล็กน้อย คือต้องใช้อีเมลของสถานศึกษา ต้องมีโดเมนตรงกันกับเว็บไซต์ของสถานศึกษาเท่านั้น ไหน ๆ ก็มีอีเมลแอดเดรสที่ได้รับจากสถาบันการศึกษากันแล้ว อย่าพลาดโอกาสดี ๆ รีบไปสมัครแล้วสร้างงานนำเสนอน่าสนใจไว้ใช้ในชั้นเรียนกันดีกว่าครับ



วันอังคารที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2556

แวะ Bic Camera อย่าลืมใช้บัตร Visa ซื้อสินค้าปลอดภาษีแล้วยังได้ลดราคาเพิ่มอีก 5%


ที่ญี่ปุ่น ร้าน Bic Camera (ย้ำว่า Bic มิใช่ Big อย่างร้านกล้องในบ้านเรา) น่าจะเป็นแหล่งช็อปปิ้งที่ชื่นชอบของใครหลาย ๆ คน โดยเฉพาะผู้สนใจเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ไอที นาฬิกา หรือแม้แต่กันดั้ม และแน่นอนว่าต้องมีกล้อง อุตส่าห์ชื่อนี้ถ้าไม่มีกล้องคงประหลาดไปหน่อย จริง ๆ ร้านใหญ่ ๆ หลายร้านในญี่ปุ่นต่างก็มีเคาน์เตอร์ขอคืนภาษีเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งที่ญี่ปุ่นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มคือ 5% โดยมีเงื่อนไขว่าต้องซื้อสินค้ารวมกัน 10,000 เยนขึ้นไป หรือคิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนขณะนี้ก็ตก 3,000 บาท แน่นอนว่าซื้อสินค้าประเภทนี้ก็คงถึงเกณฑ์ได้ง่าย ๆ

นอกจากได้ลดราคาจากป้าย 5% แล้ว ช่วงนี้ใครใช้บัตรวีซ่ายังมีโปรโมชันสำหรับซื้อสินค้าและบริการในญี่ปุ่นอีกหลายรายการ ดูเพิ่มเติมได้ที่นี่ ส่วนใหญ่ต้องพิมพ์คูปองติดมือไปด้วย แต่สำหรับโปรโมชันของ Bic Camera นี่ไม่ต้องใช้ แค่ใช้บัตรวีซ่าซื้อสินค้าคิดราคารวมภาษีตั้งแต่ 10,501 เยนขึ้นไปก็ได้ลดเพิ่มอีก 5% ทันที

ใช้สิทธิซื้อสินค้าปลอดภาษีแล้ว ทางร้านจะขอเล่มหนังสือเดินทางไปเย็บเอกสารแนบไว้แล้วจะมีเคาน์เตอร์ตรวจสอบที่ ตม. อย่าลืมยื่นไปให้พนักงานดึงออกด้วยครับ

วันเสาร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2556

มี Tokyo Banana แล้วจะมีฉะเชิงเทราแมงโก้บ้างไหมนะ

Tokyo Banana ณ โตเกียวทาวเวอร์
วันสุดท้ายของการเดินทาง เตรียมตัวไปขึ้นเครื่องที่สนามบินนานาชาติคันไซ ระหว่างอยู่ในญี่ปุ่นเพื่อนร่วมทริปต่างก็ได้ของฝากติดไม้ติดมือมาเต็มกระเป๋า แต่หลายคนก็ยังมีที่ว่างสำหรับขนมกล้วยโตเกียวยอดฮิตอยู่เสมอ โดยส่วนตัวเคยชิม Tokyo Banana ตอนแวะโตเกียวทาวเวอร์เมื่อหลายปีก่อน ก็นับว่าเป็นขนมที่อร่อยใช้ได้ เนื้อเค้กนุ่ม ครีมกล้วยหอมหวานกำลังดี แต่ไม่ได้คิดว่าเป็น The Must ขนาดนั้น ลองถามเพื่อนชาวญี่ปุ่นหลายคนก็ไม่เคยกิน แต่เห็นนักท่องเที่ยวต้องซื้อติดมือจากสนามบินกันถ้วนหน้า

ระหว่างเดินทาง ไกด์แจ้งพิกัดร้านภายในสนามบิน แถมบอกว่าใครสนใจเล็งไว้กี่กล่องให้รีบหยิบทันที เพราะช่วงนี้คนไทยมาเที่ยวกันเยอะ แถมแต่ละคนกว้านซื้อกันถล่มทลายถึงขนาดลงหนังสือพิมพ์ในญี่ปุ่นว่าคนไทยซึ้อกันจนของเกลี้ยงสต็อค ถึงสนามบินเห็นคนไทยจากหลายกรุ๊ปทัวร์มะรุมมะตุ้มกันอยู่ที่ชั้น หลายคนหิ้วกันเป็นสิบกล่อง เป็นอะไรที่น่าตกใจจริง ๆ -_-"

ยิ่งได้ฟังจากไกด์ว่ากล้วยที่เป็นวัตถุดิบหลักก็นำเข้ามาจากเมืองไทยหรือไม่ก็ฟิลิปปินส์เป็นหลัก อยู่บ้านเรากินกันเป็นหวี ๆ แทบจะกินทิ้งกินขว้าง พอถูกนำไปแปรรูป ทำแพคเกจสวยงาม วางขายในสนามบินหรือแหล่งท่องเที่ยว มูลค่าก็เพิ่มขึ้นมหาศาล กล่อง 8 ชิ้นราคาราวกล่องละ 300 บาท ย้อนกลับมาคิดถึง SME บ้านเรา เอาของดีประจำจังหวัดอย่างมะม่วงแปดริ้วมาทำแพคเกจดี ๆ มีการตลาดเจ๋ง ๆ จนกลายเป็นของที่นักท่องเที่ยวบอกกันปากต่อปากต้องซื้อกลับไปเป็นของฝากคงดีไม่น้อย


แต่ถึงอย่างไร ไหน ๆ ไปแล้วก็ต้องหิ้วติดมือกลับมาสักกล่องอยู่ดี ว่าแต่ปีนี้ไม่มีของแถมแฮะ

วันพฤหัสบดีที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2556

Think of Japan, think of Green Tea... But I love Coffee

ด้วยความเป็นคนติดกาแฟ จะต้องเดินทางไปประเทศไหนต้องพกติดตัวไปเสมอ เดินทางทริปนี้ก็ติดมือมาหลายซองเหมือนกัน เพราะไม่แน่ใจว่าจะมีโอกาสเดินหาซื้อหรือเปล่า ที่ญี่ปุ่นนี่ตู้กดเครื่องดื่มหยอดเหรียญเต็มบ้านเต็มเมืองมาก ๆ ถ้าเป็นบ้านเราหรือหลาย ๆ ประเทศ เครื่องดื่มในตู้กดส่วนใหญ่คงเป็นน้ำอัดลม แต่ที่นี่กลับไม่ค่อยเห็น กลายเป็นชากาแฟซะมากกว่า หลายตู้เป็นกาแฟล้วน ๆ ทำเอาแปลกใจทีเดียวเพราะพูดถึงญี่ปุ่นมักคิดถึงชาเขียวมากกว่า ที่สำคัญมีหลายยี่ห้อหลายรสชาติมากทั้งร้อนและเย็น สังเกตง่าย ๆ ถ้ามีป้ายสีฟ้าเป็นแบบเย็น ส่วนสีแดงเป็นกาแฟร้อน ราคาแตกต่างกันไปแล้วแต่ตู้ แต่ส่วนใหญ่ก็ตก 100 ถึง 120 เยน เรียกว่าคอกาแฟไปอยู่ญี่ปุ่นไม่ต้องกลัวขาดคาเฟอีนแน่ ๆ


พูดถึงรสชาติกาแฟแล้ว ญี่ปุ่นดื่มกาแฟจืดกว่าบ้านเรามาก หลายแบรนด์เป็นกาแฟดำจืด ๆ กันเลยทีเดียว ซึ่งจริง ๆ ถูกใจครับ เพราะดื่มกาแฟดำอยู่แล้ว ขณะที่บ้านเรา ตามร้านทั่วไปยังพอสั่งไม่ใส่น้ำตาลรึนมข้นหวานได้ แต่กาแฟกระป๋องแต่ละเจ้าอัดน้ำตาลกันจนเหนียวหนึบติดมือทีเดียว ดื่มเยอะ ๆ เบาหวานรับประทานแน่ ๆ ถ้าคนไทยลดหวานลงได้สักหน่อยน่าจะดี


แม้กาแฟกระป๋องจะมีหลากหลายแค่ไหน แต่เท่าที่ชิมมายังไง ๆ ก็ได้แค่แก้ขัด ถ้าพออดใจได้ แนะนำให้มองหาร้านสะดวกซื้อดีกว่าครับ แบบถ้วยอย่าง Starbucks ในรูปนี้ราคาราว 200 เยน ได้เยอะกว่า หอมกว่า กลมกล่อมกว่า สรุปว่าถูกใจกว่าทุกประการ ถ้าเข้าที่พักแล้ว ห้องพักที่นี่ส่วนใหญ่มีกาต้มน้ำให้ ไขน้ำก๊อกใส่เปิดไฟสักพักใช้ได้เลย มักมีชาถุง ๆ ไว้ให้ชงดื่มกันได้ไม่ต้องเสียตังค์ แต่มีส่วนน้อยที่จะให้กาแฟด้วย ดังนั้นใครติดกาแฟหนัก ๆ คงต้องเอาติดไม้ติดมือไปเองครับ


แต่อย่างไรซะ มาญี่ปุ่นงวดนี้ยังไม่ได้เข้าร้านกาแฟจริง ๆ จัง ๆ สักที จนมาถึงที่พักรถเจอ Starbucks เข้าไปสั่ง Espresso มาสองช็อต สดชื่นขึ้นเยอะ ราคากาแฟที่นี่ประกอบกับช่วงนี้บาทแข็ง คิดแล้วถูกกว่าบ้านเราซะอีกครับ จริง ๆ อยู่เมืองไทยไม่ค่อยเข้าเชนร้านกาแฟแบบนี้เพราะเมื่อเทียบกับค่าครองชีพแล้วถือว่าราคาสูงมาก แถมเคยฟังแนวคิดร้านไทยบางร้านทำนองว่า "เมื่อร้านกาแฟต่างชาติขายแพงได้ ทำไมร้านไทยจะขายแพงไม่ได้" ยิ่งรู้สึกไม่น่าอุดหนุนเข้าไปใหญ่ เหลือที่รู้สึกราคาสมเหตุสมผลอยู่ไม่กี่ร้านเท่านั้น


สรุปแล้วมางวดนี้ได้ชิมกาแฟไปหลายขนาน ปิดท้ายด้วยแก้วนี้ ซื้อจากร้านสะดวกซื้อแถวโรงแรม ใช้ได้ทีเดียว ไม่แพงด้วยแค่ร้อยกว่าเยนเท่านั้น ที่สำคัญ ชอบการซื้อในร้านอยู่อย่างคือถามพนักงานได้ว่าแบบไหนไม่มีน้ำตาล อย่างในรูปนี้ตัวหนังสือเล็ก ๆ ใต้ Caffe Latte นั่นก็คือ Sugar free ถึงพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ แต่พนักงานก็พยายามเต็มที่ครับ

ทริปนี้กาแฟที่พกมาก็เลยพากลับบ้านโดยปริยาย เพราะหากาแฟดื่มได้ง่ายมาก ๆ