วันศุกร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

เปิดไฟร์วอลล์เพื่อเข้าถึงไฟล์บน Hyper-V Server และ Windows Server Core

คุณสมบัติหนึ่งที่น่าสนใจของวินโดวส์เซอร์ฟเวอร์ตั้งแต่ 2008 เป็นต้นมา คือความสามารถในการติดตั้งให้ทำงานในโหมดบรรทัดคำสั่งเพียงอย่างเดียว หรือที่เรียกว่า Server Core ซึ่งช่วยลดการตกเป็นเป้าโจมตีจากภายนอกได้ เนื่องจากแทบไม่มีบริการที่ไม่จำเป็นใด ๆ เปิดไว้เลย นอกจากสิ่งที่แอดมินติดตั้งและเปิดให้บริการเท่านั้น นอกจากการติดตั้งวินโดวส์เซอร์ฟเวอร์ในโหมดนี้แล้ว หากต้องการนำมาใช้เป็น Hypervisor เพียงอย่างเดียว ไมโครซอฟต์ยังใจดีให้ดาวน์โหลด Hyper-V Server มาใช้ได้ฟรี ๆ อีกด้วย ซึ่งอันที่จริง Hyper-V Server ก็คือวินโดวส์เซอร์ฟเวอร์คอร์ที่มาพร้อมกับบทบาทไฮเปอร์ไวเซอร์เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถติดตั้งบทบาทหรือฟังก์ชันอื่น ๆ เพิ่มเติมได้เท่านั้นเอง แต่สำหรับไฮเปอร์ไวเซอร์ดี ๆ ฟรี ๆ ที่ใช้ได้ไม่เว้นแม้แต่ในเชิงธุรกิจ แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว

Hyper-V Server: ติดตั้งเสร็จแล้ว ... แล้วจะก๊อปปี้ VM หรือไฟล์ ISO ขึ้นไปยังไง?
จากคุณสมบัติคร่าว ๆ ข้างต้น ดูจะทำให้แอดมินลินุกซ์และยูนิกซ์ที่ต้องผันตัวเองมาทำงานกับวินโดวส์แฮปปี้ขึ้นมาบ้าง อะไรจะดีไปกว่าวินโดวส์เซอร์ฟเวอร์ที่ไม่มี bloatware รีโมทเข้าไปทำงานได้ง่าย ๆ แต่เดี๋ยวก่อน อย่าเพิ่งดีใจไป บรรทัดคำสั่งของวินโดวส์ไม่ได้เป็นเพื่อนที่ดีของแอดมินสักเท่าไหร่ บนลินุกซ์และยูนิกส์ หากต้องการก๊อปปี้ไฟล์ไปไว้ที่เซอร์ฟเวอร์ก็แค่เข้า SSH หรือ sftp แล้วก๊อปปี้ไฟล์ได้ตามใจ ดังตัวอย่างในที่นี้หลังจากติดตั้ง Hyper-V Server เรียบร้อยแล้ว เราก็คงต้องการเข้าไปสร้าง VM แล้วจะ copy ISO ขึ้นไปยังไงดี ในเบื้องต้นต้องเปิดไฟร์วอลล์เพื่อเข้าถึงไฟล์ได้ก่อน โดยป้อนคำสั่งดังนี้

netsh advfirewall firewall set rule group="File and Printer Sharing" new enable=Yes

จากนั้นเราสามารถเข้าถึงไดร์ฟ C บนเซอร์ฟเวอร์ได้ทันทีผ่าน Explorer ตามปกติ

\\Server\C$

แน่นอนว่าต้องป้อนชื่อผู้ใช้และรหัสผ่านสำหรับเซอร์ฟเวอร์เครื่องนั้น ๆ ด้วย และคำสั่งเหล่านี้ใช้ได้กับวินโดวส์ที่ติดตั้งแบบ GUI ด้วย เพียงเท่านี้ก็สามารถก๊อปปี้ไฟล์ ISO สำหรับนำไปติดตั้งบน Hyper-V ได้ แล้วจะติดตั้งอย่างไร? เพราะมันไม่มีเครื่องมือหรือ GUI ให้ใช้? ไว้จะมาอธิบายในโอกาสต่อไปครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น