วันอังคารที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ใช้ Google Apps อย่าลืมใส่ SPF record เพื่อเพิ่มความเชื่อถือได้ในการส่งอีเมล

หลายคนที่ใช้ Google Apps คงทราบดีว่าเราต้องกำหนดค่าใน DNS เพื่อให้ชื่อโฮสต์ต่าง ๆ สำหรับเมลเซอร์ฟเวอร์ และบริการอื่น ๆ เช่นปฏิทิน ภายใต้โดเมนเนมขององค์กรต้องชี้ไปยังเซอร์ฟเวอร์หลักของ Google สำหรับบริการอื่น ๆ เพียงให้ชี้ชื่อโฮสต์ไปยังเครื่องหลักก็ใช้งานได้แล้ว แต่บริการเช่นอีเมลซึ่งมักได้รับผลกระทบจาก spam ที่มีผู้พยายามส่งอีเมลผ่านโดเมนต่าง ๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของโดเมนอยู่ตลอดเวลา เช่น อ้างว่าส่งมาจาก Gmail หรือ Hotmail ทั้งที่จริง ๆ แล้วส่งมาจากเซอร์ฟเวอร์ SMTP ที่ตั้งขึ้นมาเองเท่านั้น จนกระทั่งหลายครั้งผู้ส่งเมลที่มีสิทธิจริง ๆ ก็กลับโดนดุไม่ให้ส่งซะอย่างนั้น


เปิดดูรายละเอียดในเฮดเดอร์ของอีเมลจะพบข้อสังเกตดังรูป โดย Google ระบุว่า Received-SPF: neutral โดย SPF ย่อมาจาก Sender Policy Framework ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเพื่อตรวจสอบว่าเมลเซอร์ฟเวอร์ที่ส่งเมลฉบับนั้น ๆ มาได้รับอนุญาตให้ส่งเมลสำหรับโดเมนนั้นหรือไม่ ในที่นี้เนื่องจากไม่ได้กำหนดเอาไว้ จึงไม่สามารถตรวจสอบได้ทำให้ถูกตีว่าอาจเป็น spam

วิธีการกำหนดว่าจะให้สิทธิเครื่องไหนเป็นผู้ส่งอีเมลสำหรับโดเมนของเราก็ต้องไปตั้งไว้ใน DNS ซึ่ง Google ก็อธิบายไว้ให้อย่างชัดเจนที่นี่ ใครใช้ Bind เป็น DNS ก็แค่เพิ่ม TXT record ไว้ดังนี้

@    IN    TXT    "v=spf1 include:_spf.google.com ~all"

เพียงเท่านี้ใครได้รับอีเมลจากโดเมนของเราผ่านเมลเซอร์ฟเวอร์ของ Google ก็รู้ได้ทันทีว่าเมลนี้ได้รับอนุญาต เมื่อตรวจสอบจากเฮดเดอร์จะพบว่าข้อความกลายเป็นดังรูปนี้


Received-SPF กลายเป็น pass ทำให้การรับ-ส่งเมลโดยเฉพาะการส่งเข้ากลุ่มทำได้ง่ายขึ้น เมลถูกตีกลับก็ลดลง การเพิ่ม SPF record เข้าไปใน DNS ทำได้ง่าย ๆ ฟรี ๆ แบบนี้ เข้าไปตั้งไว้เถอะครับ แล้วการส่งอีเมลจะสะดวกสบายขึ้นเยอะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น